วันจันทร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2558

คลองประมงทะเลบางขุนเทียน

สะพานทางเดินศึกษาธรรมชาติป่าชายเลน คลองประมงถึงทะเลบางขุนเทียน

          สะพานไม้ทางเดินศึกษาธรรมชาติป่าชายเลน เขตบางขุนเทียนเดิมก่อสร้างโดยสำนักผังเมือง  กรุงเทพมหานคร  ปี พ.ศ. 2545 ระยะทางประมาณ  1.7  กม. เริ่มจากคลองประมงถึงทะเลบางขุนเทียน ต่อมาสะพานไม้ทางเดินผุพัง  มีสภาพชำรุดทรุดโทรม  สำนักงานเขตบางขุนเทียนจึงได้จัดสรรงบประมาณในการปรับปรุงซ่อมแซมเมื่อปี  พ.ศ. 2551 และก่อสร้างทางเดินไม้ต่อออกไปในทะเลประมาณ  300  เมตร  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว  เรียนรู้ และศึกษาธรรมชาติระบบนิเวศป่าชายเลน รวมทั้งพืชและสัตว์ซึ่งพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน   และเป็นแห่งเดียวในกรุงเทพมหานคร
        สะพานไม้ทางเดินศึกษาธรรมชาติแห่งนี้  แบ่งพื้นที่ป่าชายเลนเป็น  2  ฝั่ง  คือฝั่งซ้ายและขวา  โดยพื้นที่ฝั่งขวาของสะพาน  (เมื่อหันหน้าเข้าสู่ทะเล)  จะมีความกว้างของพื้นที่มากกว่า  คือประมาณ  10 – 15 เมตร  พื้นที่ฝั่งซ้ายของสะพานมีความกว้างประมาณ  5 – 7 เมตร  รวมพื้นที่ประมาณ 70  ไร่ มีศาลาที่พักไว้เป็นจุด ๆ จำนวน  5 ศาลา  ตลอดแนวสะพานไม้ทางเดินศึกษาธรรมชาติ ป่าแห่งนี้มีความอุดมสมบูรณ์เมื่อเทียบกับป่าชายเลนแห่งอื่น ๆ ที่อยู่จังหวัดบริเวณรอบอ่าวไทย   โดยมีตัวชี้วัดทางชีววิทยาที่สำคัญคือ  การพบไม้แสมที่เป็นไม้เบิกนำของป่าชายเลน   เป็นต้นไม้เดิมของป่าชายเลนแถบนี้  และพบหอยแดงในทุกแปลงตัวอย่าง นอกจากนี้ ยังพบสัตว์หน้าดินกลุ่มไส้เดือนทะเลในสัดส่วนมากที่สุด ดินเลนในพื้นที่ป่าแห่งนี้มีปริมาณอินทรีย์สาร  ในดินที่เป็นอาหารของไส้เดือนทะเลอยู่ในปริมาณมาก        







แหล่งลิงแสม


    แห่งเดียวของกรุงเทพมหานคร จะมีฝูงลิงแสมอาศัยอยู่ตามธรรมชาติอย่หลายแห่ง รวมประมาณ 500-600  ตัว ส่วนใหญ่จะพบมากที่บริเวณคลองหัวกระบือ และบริเวณริมคลองสนามชัย สามารถแวะชมและให้อาหารได้สะดวกที่บริเวณถนนอนามัยงามเจริญติดกับคลองเฉลิมชัยพัฒนา และบริเวณซอยเทียนทะเล 20 (ซอยจุลพงษ์หรือซอยกำนันมาลัย) 



ชุมชนชาวประมง

     เดิมชาวบางขุนเทียนแขวงท่าข้ามมีอาชีพทำนาเป็นหลัก  โดยทำนาในแผ่นดินลึกเข้าไป หลังเกี่ยวข้าวก็จะตัดฟืนในป่าโกงกาง  ป่าแสมมาขาย  และถือโอกาสเอาลอบเอาไซไปดักกุ้งปลามาทำอาหาร  แต่เพราะกุ้งปลาอุดมสมบูรณ์มากจนเหลือกิน  จึงนำไปขายได้ราคาดี  ชาวนาบางส่วนจึงเปลี่ยนอาชีพมาจับกุ้งขาย  โดยใช้วิธีธรรมชาติ  คือกักกุ้งไว้ตามคลอง  แล้วใช้ลอบดัก  ส่วนการเลื้ยงกุ้งด้วยวิธีทำคันนั้นเริ่มเมื่อราวปี พ.ศ. 2521-2522  โดยเลี้ยงกุ้งขาวหรือกุ้งแชบ๊วยด้วยวิธีธรรมชาติ  โดยอาศัยกฏเกณฑ์จากเวลาน้ำขึ้น-น้ำลง  เมื่อน้ำขึ้นจะปล่อยน้ำกร่อยจากคลองเข้าในนาที่ทำคันไว้  ซึ่งน้ำที่ปล่อยนี้จะมีลูกกุ้งที่เรียกว่า "เชื้อ"  อยู่เป็นจำนวนมาก  จากนั้นขังน้ำไว้ประมาณเดือนถึงเดือนครึ่งจนลูกกุ้งโตเต็มที่  ก็จะปล่อยนำออกให้ตรงกับเวลาน้ำลงจึงจับมาขาย  แต่ปัจจุบัน "เชื้อ"  มีไม่มากเหมือนก่อน  จึงต้องเติมเข้าไปเอง    ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ความอุดมสมบูรณ์ลดลงเนื่องจากสภาพน้ำที่ไม่บริสุทะเหมือนเดิม  อันมีมูลเหตุจากน้ำเน่าเสียที่ปล่อยออกมาจากโรงงานอุตสาหกรรม  ประกอบกับการที่ป่าชายเลนลดน้อยลง  ทำให้ไม่มีต้นไม้ที่จะดูดซึมสารพิษและฟอกน้ำให้สะอาด  เพราะรากของโกงกาง แสม  ลำพู  สามารถช่วยดูดออกซิเจนลงไปในน้ำ และฟอกน้ำได้ เมื่อขาดต้นโกงกาง  ขาดไม้ชายเลนที่เคยวางไข่หรือพักพิง  เชื้อกุ้งแชบ๊วยและกุ้งกุลาดำจึงค่อยๆ หายไป สำหรับปูปลาก็จะใช้วิธีเดียวกัน  ส่วนหอยแครงจะใช้หอยธรรมชาติที่เข้ามากับน้ำทะเล และหอยแครงที่ซื้อพันธ์มาเลี้ยงเพิ่ม  โดยต่อท่อกักน้ำเวลาน้ำทะเลขึ้นก็เปิดให้น้ำเข้า  พอน้ำทะเลลงก็ระบายน้ำออกไป





ประติมากรรมสัตว์น้ำทางทะเล ถนนบางขุนเทียน-ชายทะเล

        สำนักงานเขตบางขุนเทียน ได้ดำเนินการจัดทำและติดตั้งประติมากรรมสัตว์น้ำทางทะเลบนเกาะกลางถนนบางขุนเทียน-ชายทะเล เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว เนื่องจากถนนดังกล่าวเป็นถนนสายหลักที่ประชาชนจำนวนมากใช้เป็นเส้นทางเข้าสู่ชายทะเลบางขุนเทียน  ซึ่งมีปะติมากรรมสัตว์น้ำทางทะเล จำนวน  38  ชนิด เป็นปะติมากรรมชุดเล็กจำนวน 35 ชนิด ได้แก่ 1.) นกกระยาง 2.) เต่าน้ำจืด 3.)นกเป็ดน้ำ 4.)ปลาบิน 5.) ปูก้ามดาบ 6.) นกกระทุง 7.) ปลาตีน 8.) ปูเสฉวน 9.) ปลากระพง 10.)หมึกกล้วย 11.) กั้ง 12.) เต่ามะเฟือง 13.)  กุ้งกุลาดำ 14.) ปลาเก๋า 15.) ปูม้า 16.) กระเบนธง 17.) หอยมือเสือ 18.) วาฬหลังค่อม 19.) ปลานกแก้ว 20.)แมงกะพรุน 21.) ม้าน้ำ 22.) หอยสังข์ 23.) ปลาปักเป้า 24.) โลมาหัวบาตร 25.) ดาวทะเล 26.) ฉลามหัวฆ้อน 27.) ปลาสิงโต 28.) เต่ากระ 29.) ปลากระทง 30.) พยูน 31.) แมงดาทะเล 32.) ฉลามเสือ 33.) หมึกยักษ์ 34.) กระเบนราหู 35.) กุ้งมังกร ปะติมากรรมชุดใหญ่จำนวน 2 ชนิด ได้แก่ 1.) ปลาผีเสื้อ 2.) โลมาหัวขวด และชุดใหญ่พิเศษ 1 ชนิด คือ ปูทะเล บนเกาะกลางถนนบางขุนเทียน-ชายทะเล ความยาวประมาณ 7 กิโลเมตร




















หลักเขตบางขุนเทียนกลางทะเล

            เขตบางขุนเทียนมีพื้นที่ส่วนสำคัญติดชายทะเลทางด้านฝั่งอ่าวไทย โดยมีหลักเขตเป็นตัวแบ่งพื้นที่ระหว่างกรุงเทพมหานครและจังหวัดข้างเคียงที่อยู่กลางทะเลด้วยกัน คือหลักเขตที่ 28 แบ่งระหว่างกรุงเทพฯ และจังหวัดสมุทรปราการ และหลักเขตที่ 29 แบ่งระหว่างกรุงเทพฯ และจังหวัดสมุทรสาคร โดยทั้งสองหลักเขตนี้มีระยะห่างกันประมาน 5 กิโลเมตร การที่หลักเขตนี้ไปตั้งอยู่กลางทะเลก็เพราะสืบเนื่องจากกระแสคลื่นได้พักเอาตะกอนของแนวพื้นดินเดิมลงหายไปสู่ทะเลตลอดเวลา สำหรับการเดินทางไปยังหลักเขตสามารถติดต่อเรือท่องเที่ยวได้จากท่าเรือวัดประชาบำรุง (วัดลูกวัว) และท่าเรือโรงเรียนคลองพิทยาลงกรณ์




ป่าชายเลนบางขุนเทียน

ความเป็นมาของป่าชายเลนเขตบางขุนเทียน 


พื้นที่ป่าชายเลนบางขุนเทียน ตั้งอยู่ในท้องที่หมู่ที่ 9 และหมู่ที่ 10  แขวงท่าข้าม  เขตบางขุนเทียน เดิมที่ดินบริเวณป่าชายเลนดังกล่าว  เป็นเขตป่าไม้ถาวรแห่งชาติ   อยู่ในความดูแลของกรมป่าไม้   กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ซึ่งได้ประกาศจัดพื้นที่แถบชายฝั่งทะเล   3   จังหวัด  ได้แก่  สมุทรปราการ  สมุทรสาคร  และจังหวัดธนบุรี(ในขณะนั้น)  ให้เป็นพื้นที่จัดที่ดินทำกินตาม  พระราชบัญญัติจัดที่ดินทำกิน พ.ศ. 2511  และได้กันพื้นที่แถบชายฝั่งทะเลไว้ประมาณ กิโลเมตร เพื่อใช้เป็นแนวกันชนน้ำทะเลกัดเซาะ  โดยยังไม่ได้มีการศึกษาการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลดังกล่าว ดังนั้น ในช่วงปี  พ.ศ.2511 -2526  พื้นที่ป่าไม้ถูกน้ำทะเลกัดเซาะจนเสียหายเกือบหมด  และเลยเข้ามาในที่ดินทำกินของสมาชิกนิคมสหกรณ์บ้านไร่ด้วย  ซึ่งชาวบ้านบางรายได้พยายามป้องกันพื้นที่ของตนเอง  ด้วยการทิ้งหินตามแนวชายฝั่งที่ปิดล้อมดิน  และจากปัญหาดังกล่าว  ประชาชนได้ร้องเรียนขอให้กรุงเทพมหานครให้ความช่วยเหลือ กรุงเทพมหานครจึงได้มีหนังสือแจ้งให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทราบปัญหา   และขอให้กันที่ดินบริเวณดังกล่าวให้กรุงเทพมหานครดูแลเมื่อ  พ.ศ. 2528  เพื่อจะดำเนินการป้องกันปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะ  ต่อมาคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติได้เดินทางมาตรวจสอบสถานที่และนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา  ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติ  เมื่อวันที่25 กรกฎาคม 2532  จำแนกพื้นที่ป่าชายเลนในเขตบางขุนเทียน  จำนวน 2,735  ไร่      ออกจากป่าไม้ถาวรแห่งชาติ   และให้กรุงเทพมหานคร ดำเนินการปรับปรุงพื้นที่  เพื่อป้องกันการพังทลายของชายฝั่ง  ปลูกสร้างสวนป่า  และเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน    

พื้นที่ป่าชายเลนมีอาณาเขตดังนี้  
ทิศเหนือ  จดที่ดินของสมาชิกนิคมสหกรณ์บ้านไร่   ยาวประมาณ  4,928   เมตร
ทิศใต้  จดทะเล(อ่าวไทย)   ยาวประมาณ  4,764.94   เมตร
ทิศตะวันออก  จดจังหวัดสมุทรปราการ กั้นเขตแดนโดยคลองขุนราชพินิจใจยาว   ประมาณ  940.85  เมตร
ทิศตะวันตก  จดจังหวัดสมุทรสาคร(คลองเสาธง) ที่ตำบลพันท้ายนรสิงห์  ยาวประมาณ  940.75   เมตร
      ป่าชายเลนบริเวณเขตบางขุนเทียนมีบทบาทสำคัญในการป้องกันการพังทลายของชายฝั่ง ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณนี้ได้อาศัยป่าชายเลนในการใช้ไม้เพื่อทำฟืน ทำเครื่องมือประมงบางประเภท  และเป็นแหล่งจับสัตว์น้ำและเพาะเลี้ยงชายฝั่ง ป่าชายเลนบริเวณนี้ยังเป็นแหล่งอาหาร ที่อยู่อาศัยแหล่งเพาะพันธุ์และอนุบาลตัวอ่อนของสัตว์น้ำนานาชนิด เช่น กุ้ง  หอย  ปู  เป็นต้น   นอกจากนี้เป็นแนวเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่บนบกกับทะเลเพื่อเป็นแหล่งดูดซับสิ่งปฏิกูล  และมลพิษจากบนบก
              
พื้นที่
พันธุ์ไม้ที่พบ
พื้นที่ตลอดแนวชายฝั่งบางขุนเทียน
แสมทะเล   แสมขาว  ถั่วขาว  โกงกางใบเล็ก  โกงกางใบใหญ่
พื้นที่บริเวณนากุ้งร้างและคันนากุ้ง
โกงกางใบเล็ก โกงกางใบใหญ่  แสมทะเล  แสมขาว  ถั่วขาว ลำพู  ลำพูทะเล  ตะบูนดำ  ตะบูนขาว  ตาตุ่ม  ปอทะเล   โพธิ์ทะเล   จาก    ปรงทะเล  พังกาหัวสุมดอกขาว 

ตารางที่  1   ชนิดและการกระจายของพันธุ์ไม้ป่าชายเลนบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน 

       การเดินทาง ไปชมป่าชายเลนบางขุนเทียนนั้นเริ่มจากที่ถนนพระราม 2 เลี้ยวเข้าถนนบางขุนเทียน-ชายทะเล ขับรถตรงเข้าไปประมาณ 15 กิโลเมตรจนสุดทาง จะพบ 3 แยกให้เลี้ยวขวา (ทางไปสมุทรสาคร) และตรงไปอีกเพียง 200 เมตรจะพบกับโรงเรียนคลองพิทยาลงกรณ์ สามารถนำรถเข้าไปฝากจอดในโรงเรียนได้ ตรงข้ามโรงเรียนจะพบทางเข้าชุมชนคลองพิทยาลงกรณ์ จากจุดนี้สามารถเลือกที่จะเดิน เช่ารถจักรยานจากทางโรงเรียน หรือจ้างรถจักรยานยนต์ให้เข้าไปส่งก็ได้ โดยต้องเดินทางเข้าไปด้านในระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร ลักษณะเส้นทางเป็นถนนคอนกรีตขนาดเล็กสำหรับให้คนและรถจักรยานยนต์สัญจร เมื่อมาสุดทางจะพบกับชุมชนชายทะเลบางขุนเทียน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ซึ่งสร้างเป็นสะพานไม้ทอดผ่านเข้าไปในป่าชายเลนมีปลายทางที่ริมทะเล    
มีระยะทางโดยรวม 1.7 กิโลเมตร




เมื่อเราเดินมาใกล้ถึงปลายทางซึ่งเป็นจุดชมวิวทะเล จะได้ยินเสียงเครื่องเรือของชาวบ้านแว่วมาในระยะไม่ไกล แสงสว่างจากท้องทะเลส่องผ่านปากทางร่มไม้สองข้างที่โอบตัวเป็นเหมือนอุโมงค์ เมื่อพ้นบริเวณร่มไม้มาแล้วจะพบศาลานั่งเล่นขนาบอยู่ทั้งสองข้างของทางเดินและปรากฏผืนน้ำทะเลอยู่เบื้องหน้า ซึ่งแม้น้ำทะเลจะไม่ได้มีสีสันสวยงามเหมือนแหล่งท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อแห่งอื่น แต่ที่แห่งนี้ก็ได้ชื่อว่าเป็นทะเลแห่งเดียวของกรุงเทพมหานคร โดยสะพานไม้จะทอดยาวออกไปในทะเลและที่สุดทางทำเป็นจุดยืนชมวิว โดยเมื่อมองออกไปในระยะไม่ไกลจะพบฝูงนกยางและนกนางนวลกำลังพักผ่อนและหาอาหารอยู่บริเวณแนวชายฝั่งเป็นจำนวนมาก 



ทางเดินศึกษาธรรมชาติ

เส้นทางเดินเท้าและทางจักรยานศึกษาธรรมชาติป่าชายเลน

      กรุงเทพมหานครร่วมกับสำนักผังเมืองดำเนินการก่อสร้างเส้นทางเดินเท้าและทางจักรยานเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์สำหรับนักท่องเที่ยว  นักเรียน นักศึกษา  และประชาชนทั่วไป ได้เข้ามาสัมผัสระบบนิเวศน์ของป่าชายเลนได้อย่างใกล้ชิด  และสามารถทำกิจกรรมศึกษาพันธุ์ไม้นานาชนิด  และสัตว์ต่างในป่าชายเลนซึ่งได้แก่ นก ปู ปลา ด้วยเส้นทางจักรยานโดยสามารถจอดรถที่โรงเรียนคลองพิทยาลงกรณ์  และเช่ารถจักรยานเพียงคันละ  20 เท่านั้น สามารถชื่นชมธรรมชาติที่ป่าชายเลนได้แล้ว











-สำหรับผู้ที่สนใจล่องเรือเที่ยวทะเลบางขุนเทียน ค่าเรือผู้ใหญ่คนละ 70 บาท,เด็ก 30 บาท เปิดวันเสาร์-อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ สอบถามโทร.0-2897-4250


แหล่งข้อมูลอ้างอิง : http://office.bangkok.go.th/bangkhunthian/tour/index.php?option=com_content&view=category&id=15&Itemid=18
http://office.bangkok.go.th/bangkhunthian/tour/index.php?option=com_content&view=article&id=62:2012-01-11-03-05-15&catid=15:2011-09-22-13-28-19&Itemid=18
http://office.bangkok.go.th/bangkhunthian/tour/index.php?option=com_content&view=article&id=51:2011-09-30-02-20-52&catid=15:2011-09-22-13-28-19&Itemid=18
http://office.bangkok.go.th/bangkhunthian/tour/index.php?option=com_content&view=article&id=48:2011-09-28-07-26-33&catid=15:2011-09-22-13-28-19&Itemid=18
http://office.bangkok.go.th/bangkhunthian/tour/index.php?option=com_content&view=article&id=36:2011-09-23-03-13-07&catid=15:2011-09-22-13-28-19&Itemid=18
http://office.bangkok.go.th/bangkhunthian/tour/index.php?option=com_content&view=article&id=34:2011-09-22-04-23-07&catid=15:2011-09-22-13-28-19&Itemid=18
http://office.bangkok.go.th/bangkhunthian/tour/index.php?option=com_content&view=article&id=33:2011-09-22-03-14-15&catid=15:2011-09-22-13-28-19&Itemid=18
http://office.bangkok.go.th/bangkhunthian/tour/index.php?option=com_content&view=article&id=32:2011-09-22-02-30-23&catid=15:2011-09-22-13-28-19&Itemid=18
http://intra.oie.go.th/tour/bang.asp
https://www.youtube.com/watch?v=low4tb0WIJo